ความเป็นมา ตอน 2
นโยบายของไทยต่อการอพยพของกองกำลังทหารจีนคณะชาติ
นโยบายของรัฐบาลไทยที่มีต่อการอพยพเข้ามาของกองกำลังทหารจีนคณะชาตินั้นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นโยบายของรัฐบาลไทยก่อนและหลังจากปีพ.ศ. 2501 เป็นต้นมา ได้มีการดำเนินการส่งทหารจีนคณะชาติกลับไต้หวันครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496 และครั้งที่สอง คือ พ.ศ. 2504
อย่างไรก็ดี ในเดือนมีนาคมปีเดียวกันนี้เอง รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศเจตนาที่จะปฏิบัติการตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด และได้ยื่นคำขาดให้กองทหารจีนคณะชาติออกจากเขตแดนไทยภายใน 3 วัน
อีกทั้งได้เตรียมกำลังเคลื่อนย้ายออกไป ในปี พ.ศ. 2505 ได้มีกองทหารจีนคณะชาติล้ำแดนเข้ามายังประเทศไทยจำนวนมาก อีกทั้งได้ตั้งฐานที่มั่นอยู่ในเขตแดนของไทย ทำให้รัฐบาลต้องประกาศนโยบายให้ปฏิบัติต่อกองทหารจันคณะชาติตามที่ได้ทำตาม
ได้มีการดำเนินการทางการเมืองโดยที่ทางรัฐบาลไทยพยายามเจรจากับรัฐบาลของจีนและการทหารโดยการผลักดันให้ออกนอกประเทศ โดยจะมีการปลดอาวุธและควบคุมตัวหากไม่เดินทางออกไป
อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ. 2506 รัฐบาลไทยได้มีมาตราการที่ใช้กับทหารจีนคณะชาติคือการดำเนินการติดต่อกับสถานฑูตของจีนอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องการควบคุม และไม่ใช้เจ้าหน้าที่รัฐบาลติดต่อกับหน่วยทหารโดยตรง
เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นการรับรองฐานะของกองทหารจีนคณะชาติ ทำการปราบปรามยาเสพติด เส้นทางการลำเลียงโดยดำเนินการเป็นครั้งคราว หรือในกรณีเคลื่อนย้ายอาวุธ อันอาจเป็นภัยต่อประเทศ และดำเนินการปราบปรามและจับกุมตามความเหมาะสม
นอกจากนี้แล้ว ตั้งแต่หลังปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา กองกำลังทหารจีนคณะชาติกองทัพที่ 3 และ 5 เข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการเป็นการถาวรอยู่ตามบริเวณชายแดนไทย อีกทั้งหน่วยข่าวกรองของพรรคก๊ก มิน ตั๋ง ได้เข้ามาใช้พื้นที่ของประเทศไทยในการหาข่าว
กับกองทหารจีนคณะชาติ กองทัพที่ 3 และกองทัพที่ 5 ซึ่งในความเข้าใจของคนไทยโดยทั่วไป เห็นว่ากองทัพทั้งสองนี้คือกองพล 93 อาจจะกล่าวได้ว่านโยบายและการปฏิบัติของรัฐบาลต่อทหารจีนคณะชาติและจีนฮ่อ ระหว่างปี พ.ศ. 2506-2510
นั้นเป็นนโยบายคุมเชิงและควบคุมกองทหารจีนคณะชาติที่ตกค้างในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้กลับประเทศไต้หวันตามโครงการส่งกลับในรอบที่สองในปี พ.ศ. 2504 ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2513 บก. ทหารสูงสุดส่วนหน้าได้เปิดประชุมปัญหาทหารจีนคณะชาติที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศไทย
โดยมี พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์เป็นประธาน เนื้อหาในการประชุมคือ การที่ทหารจีนคณะชาติเป็นปัญหาเรื้อรังนานถึง 21 ปี ถึงแม้จะมีการอพยพแล้วสองครั้งคือ พ.ศ. 2496 และ พ.ศ. 2504 แต่ก็ยังพบว่ามีทหารจีนคณะชาติตกค้างอยู่ในชายแดนภาคเหนือของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2513 หลังจากที่มีการประชุมในเดือนกันยายน ปีเดียวกันได้มีมติให้กองบัญชาการทหารสูงสุดเข้าควบคุม เคลื่อนย้ายกำลังบางส่วนไปจัดตั้งหมู่บ้านผู้อพยพที่หมู่บ้านผาตั้ง บนดอยผาหม่น และที่บ้านแม่แอบ บนดอยหลวง
ทั้งนี้มติดังกล่าวได้อนุญาตให้กองทหารจีนคณะชาติที่ตกค้างมีอาวุธป้องกันตนเองได้ไประยะหนึ่งก่อน นอกจากนี้แล้วรัฐบาลไทยในช่วงเวลาดังกล่าวได้ยอมรับสถานะของกองกำลังจีนคณะชาติที่ตกค้างให้อยู่ในสถานะผู้อพยพ รวมถึงจัดสถานที่พักให้เป็นหลักแหล่ง
อีกทั้งมีการพัฒนาอาชีพและความรู้โดยอบู่ภายใต้การดูแลของกองบัญชาการทหารสูงสุด นอกจากนี้แล้ว ทางรัฐบาลไทยในช่วงปี พ.ศ. 2515 ได้เล็งเห็นว่าควรให้กองทัพไทยควบคุมผู้อพยพแทน โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด และการกำหนดที่อยู่ ตลอดจนถึงเรื่องของอาชีพที่สามารถเลี้ยงตนเองได้
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2515 รัฐบาลได้มีคำสั่งฝ่ายรักษาความมั่นคงแห่งชาติเรื่องการกำหนดที่อยู่ การพัฒนาอาชีพของกองทหารจีนคณะชาติอพยพ และครอบครัว รวมถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับหมู่บ้าน และในเวลาต่อมากองทหารจีนคณะชาติดังกล่าว
ได้แปรสภาพกลายเป็นพลเรือนและจัดตั้งหมู่บ้านจำนวน 13 หมู่บ้านด้วยกัน ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยติดต่อเจรจากับรัฐบาลไต้หวันในเรื่องการส่งกองทหารจีนคณะชาติตกค้างกลับ
ในหมู่บ้านของกองกำลังทหารจีนคณะชาติตกค้างนั้น มีการตั้งโรงเรียนการสอนภาษาจีนที่ดอยแม่สะลอง โดยที่ชุมชนเป็นผู้จัดการศึกษาให้กับบุตรหลานของกองทหารจีนคณะชาติอพยพ โรงเรียนสอนภาษาจีนนี้สร้างเป็นเหมือนโรงเรียนประจำ
มีหอพักนักเรียนชาย และนักเรียนหญิง นอกจานี้ยังเปิดโอกาสให้มีนักเรียนจากต่างถิ่นเข้ามาเรียนร่วมด้วยในปี พ.ศ. 2518 รัฐบาลได้มีมติเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กที่เป็นบุตรหลานของกองทหารจีนคณะชาติ และจีนฮ่ออพยพ
โดยอนุโลมให้เด็กสามารถเข้าศึกษาในโรงเรียนของรัฐบาลและเอกชน ด้วยเหตุนี้ขึงมีการตั้งโรงเรียนราษฎรขึ้นในพื้นที่พร้อมทั้งมีการคัดเลือกเด็กชาวจีนที่เป็นชายจากหมู่บ้านดอยแม่สะลอง และถ้ำง็อบเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนชาวไทยภูเขาที่อำเภอเชียงดาว
จังหวัดเชียงใหม่ อีกทั้งยังมีการสอนภาษาไทยให้กับลูกหลานของกองทหารจีนคณะชาติอพยพ นอกจานี้แล้ว กองบัญชาการทหารสูงสุดได้เสนอให้สัญชาติไทยแก่บุคคลเหล่านี้ โดยที่คณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 โดยจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาให้สัญชาติแก่อดีตทหารจีนคณะชาติ
รัฐบาลไทยในปี พ.ศ. 2527 ได้มีการพิจารณาสาระสำคัญของสถานะภาพของกองทหารจีนคณะชาติหรือกองพล 93 ที่คนไทยเรียก การให้สัญชาติไทยต่อกลุ่มผู้อพยพอดีตกองทหารจีนคณะชาติให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพิจารณาในเรื่องนี้ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายอย่างเคร่งครัด
โดยไม่กระทำในลักษณะกรณีพิเศษเช่นที่เคยปฏิบัติมา ทั้งในระยะก่อนที่จะให้สถานภาพคนต่างด้าวและหลักจากได้รับสถานะต่างด้าวแล้ว รวมทั้งก่อนที่จะแปลงสัญชาติเป็นคนไทย ทั้งนี้โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการแปลงสัญชาติ
ในการแปลงสัญชาติแทนกองกองบัญชาการทหารสูงสุดที่เป็นหน่วยงานหลัก. ซึ่ง พื้นที่บางส่วนเช่น บ้านเปียงหลวง บ้านถ้ำง็อบ อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่บนดอยแม่สะลอง บ้านแม่แอบ บ้านผาตั้ง จังหวัดเชียงราย ส่วนที่บ้านหัวลาง และบ้านนาป่าแปก จังหวัดแม่ฮ่องสอน กลายเป็นหมู่บ้านที่อยู่อาศัยของ
อดีตกองทหารจีนคณะชาติ หรือกองพล 93 และจีนฮ่ออพยพในปัจจุบันนี้
มีต่อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ขอเชิญท่านแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ,อิสระเสรี.